สารพัดเทคนิคเสริม... เพื่อรักษาฝ้า (หมอชาวบ้าน)
นอกจากการใช้ยาทารักษาฝ้าที่มีทั้งยาสูตรหลักที่ใช้กันมานาน และยาหรือครีมทารักษาฝ้าด้วยสารใหม่ ๆ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีเทคนิคเสริมเพื่อรักษาฝ้าหลายอย่างคือ
1. การลอกหน้าด้วยสารเคมี
สารเคมี เช่น กรดไตรคลอโรอะซิติก กรดไกลคอลิก อาจช่วยลอกผิวหนังส่วนบนทำให้ฝ้าจางลงได้ แต่ต้องระวังข้อแทรกซ้อน เช่น อาจเกิดรอยดำ การติดเชื้อ และแผลเป็น การลอกหน้าทำให้เซลล์ผิวหนังหลุดลอกออกไปเร็วขึ้น ผู้ป่วยที่กินยาคุมกำเนิดไม่ควรลอกหน้า เพราะยาคุมทำให้เป็นฝ้าอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้รอยคล้ำหลังลอกเข้มมากกว่าปกติ
ผู้ที่เคยเป็นเริมที่ใบหน้า แพทย์อาจให้กินยาต้านไวรัสเริม 2 วันก่อนลอกต่อจนถึง 5 วันหลังลอก เพื่อลดการกำเริบของเริม หลังลอกหน้าต้องหลีกเลี่ยงแสงแดด ทายากันแดด ถ้าผิวลอกเป็นขุยมากอาจทาครีมให้ความชุ่มชื้น ถ้ามีการติดเชื้อหรือการกำเริบของเริม ต้องรีบกลับมาพบแพทย์
2. การกรอผิวด้วยผงขัด (microdermabrasion)
วืธีนี้จะเร่งการขจัดเซลล์ชั้นหนังกำพร้าให้ลอกหลุดเร็วขึ้น ได้ผลสำหรับฝ้าและกระที่อยู่ในชั้นตื้น ๆ สำหรับข้อดีของการกรอผิวด้วยผงขัด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการขัดหน้าชนิดลึก (dermabrasion) ที่เคยนิยมในยุคก่อน คือ การกรอผิวด้วยผงขัดไม่ต้องอาศัยการดมยา เทคนิคนี้ไม่เจ็บ ทำซ้ำได้บ่อย ทำง่าย และรวดเร็ว ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ทันที
อย่างไรก็ตามการกรอผิวด้วยผงขัดมีข้อด้อย คือ ต้องทำซ้ำหลายครั้ง และผลการรักษามีประสิทธิภาพน้อย ข้อแทรกซ้อนของการกรอผิวด้วยผงขัดคือ อาการตาแดง กลัวแสง และน้ำตาไหล การกรอผิวด้วยผงขัดเพียงอย่างเดียวไม่ค่อยได้ผลในการรักษาฝ้า เพราะเทคนิคนี้ช่วยแค่ทำให้เม็ดสีในเซลล์ผิวหนังหลุดลอก
3. การใช้ความเย็นจัด (Cryotherapy)
การใช้ความเย็นจัด เป็นเทคนิคที่ใช้รักษาโรคผิวหนังหลายอย่าง พบว่าเซลล์ผิวหนังแต่ละชนิดถูกทำลายที่อุณหภูมิแตกต่างกัน คือ เซลล์ผิวหนัง (keratinocytes) ถูกทำลายที่อุณหภูมิ -50 องศาเซลเซียส ส่วนเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocytes) ไวต่อความเย็นมาก ถูกทำลายที่อุณหภูมิเพียง -5 องศาเซลเซียส จึงมักพบผิวเป็นรอยขาวเมื่อใช้ความเย็นจัดในคนผิวสีเข้ม
ใช้เทคนิคความเย็นจัดรักษาฝ้า แต่ต้องระวังข้อแทรกซ้อนที่มีได้ตั้งแต่
ข้อแทรกซ้อนเฉียบพลัน ได้แก่ อาการปวดศีรษะ เจ็บแผล และเกิดตุ่มน้ำบริเวณที่ทำ
ข้อแทรกซ้อนที่เกิดตามมา คือ มีเลือดออก ติดเชื้อ
ข้อแทรกซ้อนที่เป็นอยู่ได้นาน คือ ผิวเป็นรอยดำ และมีการเปลี่ยนแปลงของการรับความรู้สึก
ส่วนข้อแทรกซ้อนถาวร ได้แก่ ผมร่วง ผิวฝ่อ แผลเป็นคีลอยด์ แผลเป็น ผิวเป็นรอยขาว และเกิดเปลือกตาปลิ้น
4.การใช้เทคนิคประจุไฟฟ้า(iontophoresis)
เมื่อ พ.ศ. 2536 มีงานวิจัยของคณะแพทย์ญี่ปุ่นระบุว่าใช้เทคนิคไอออนโตของวิตามินซีมารักษา ฝ้าและรอยดำจากการเกิดผื่นแพ้สัมผัส ทำให้รอยดำเหล่านี้จางลงได้บ้าง และช่วยให้ผิวหนังสดใสขึ้น
มีงานวิจัยของแพทย์เกาหลีที่ยืนยันว่าการทำไอออนโตด้วยวิตามินซีช่วยรักษาฝ้าได้จริง วิธีไอออนโตจัดเป็นเพียงเทคนิคเสริมในการรักษาฝ้า และในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใด ๆ ที่จะรักษาฝ้าให้หายขาดได้ ผู้ที่ใช้เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาตัวที่จะนำมาทำไอออนโต ผู้ที่มีบาดแผลที่ผิวหนัง หรือผิวหนังติดเชื้อบริเวณที่จะทำ และผู้ที่มีประวัติโรคลมชัก ห้ามรับการทำไอออนโต
5. การใช้เทคนิคฉายแสง (Phototherapy)
ยังไม่นิยมใช้เทคนิคฉายแสงในการรักษาฝ้า เพราะมีราคาสูง ผลการรักษายังไม่แน่นอน กลับเป็นซ้ำเมื่อหยุดการรักษา และอาจเกิดข้อแทรกซ้อนที่ใช้กันเช่น เลเซอร์และแสงความเข้มสูง (IPL) เทคนิคนี้มีข้อแทรกซ้อน คือ อาการเจ็บปวด ผิวแดง บวม และรอยดำหลังการอักเสบ
สารพัดเทคนิคเสริมเพื่อรักษาฝ้าที่กล่าวไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่สามารถรักษาฝ้าให้หายขาดไม่กลับเป็นซ้ำ และอาจมีผลแทรกซ้อนได้ จึงควรเลือกใช้ตามความเหมาะสม และต้องเข้าใจว่ายังไม่มีวิธีใดที่รักษาฝ้าให้หายขาด และไม่กลับเป็นซ้ำตลอดชีวิตได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
คุณสามารถแสดงความคิดเห็น ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็น สมาชิกนะคะแต่ถ้าสมัคร สมาชิกและเข้าสู่ระบบก่อนโพส ข้อความเราจะโชว์รูปของคุณ